Headlines

โรคงูสวัด (Shingles) การรักษาโรคงูสวัดที่ถูกต้อง

โรคงูสวัด (Shingles หรือ Herpes zoster) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคอีสุกอีใส (Varicella zoster virus – VZV) เพราะเมื่อโรคอีสุกอีใสหายแล้วจะยังคงมีเชื้อไวรัสชนิดนี้หลงเหลือซ่อนอยู่ในปมประสาทต่าง ๆ โดยเฉพาะของลำตัว เพื่อรอเวลาที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อไวรัสชนิดนี้ก็จะเจริญเติบโตและก่อให้เกิดเป็นโรคงูสวัดตามมา

โรคงูสวัด (Shingles)

  • งูสวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง สามารถพบได้ทุกช่วงอายุตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ จะพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักพบในผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนและหลังจากโรคอีสุกอีใสหายแล้วเป็นเดือน เป็นปี หลายปี หรือเป็น 10 ปี โรคงูสวัดจึงเกิดตามมาเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ
  • ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า โรคนี้เป็นไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส และพบว่าผู้ที่เป็นอีสุกอีใสแล้วจะเป็นงูสวัดได้ประมาณ 1-2% (ผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสจะไม่เป็นโรคงูสวัด)
  • โรคนี้จะมีโอกาสการเกิด มีความรุนแรงของโรค และมีระยะเวลาที่เป็นจะนานมากขึ้นไปตามอายุ โดยมักพบในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ส่วนในเด็กและทารกจะพบได้น้อยและมักมีอาการไม่รุนแรง (จากรายงานพบว่า ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันเป็นปกติและมีอายุน้อยกว่า 50 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคงูสวัดอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตคิดเป็น 10% ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะพบว่ามีโอกาสเป็นโรคงูสวัดได้มากกว่าเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี ถึง 10 เท่า)
  • โดยทั่วไปแล้วถือเป็นโรคที่ไม่รุนแรง มักรักษาให้หายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ และมักจะเป็นโรคนี้เพียงครั้งเดียวในชีวิต เมื่อหายแล้วจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกเช่นเดียวกับอีสุกอีใส ยกเว้นในผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางชนิด รวมทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่อาจเป็นงูสวัดซ้ำได้หลายครั้ง

การรักษาโรคงูสวัดที่ถูกต้อง

  • ผู้ป่วยงูสวัดที่มีอาการไม่รุนแรงมาก แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการ เช่น ถ้ามีอาการปวดก็ให้ยาแก้ปวด, ถ้ามีอาการคันหรือปวดแสบปวดร้อนก็ให้ทายาแก้ผดผื่นคัน ครีมพญายอขององค์การเภสัชกรรมหรือของอภัยภูเบศร หรือให้ทาน้ำยาคาลาไมน์, ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองเฟะจากการติดเชื้อแทรกซ้อนก็ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
  • ผู้ป่วยงูสวัดที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือในรายที่ขึ้นบริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์จะให้กินยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ครั้งละ 800 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง วันละ 5 ครั้ง (เว้นมื้อหลังเข้านอนตอนดึก) นาน 7 วัน แต่จะต้องเริ่มให้ภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จึงจะได้ผลดีในการลดความรุนแรงและย่นระยะเวลาให้หายเร็วขึ้น รวมทั้งอาจช่วยลดอาการปวดประสาทแทรกซ้อนในภายหลังได้ด้วย
    • สำหรับยาอะไซโคลเวียร์ชนิดทาภายนอกนั้น มีไว้ใช้สำหรับรักษาโรคเริม แต่ใช้ไม่ได้ผลกับโรคงูสวัดและอีสุกอีใส
    • นอกจากยาอะไซโคลเวียร์แล้วยังมียาอีก 2 ชนิด คือ วาลาซิโคลเวียร์ (Valaciclovir) และแฟมซิโคลเวียร์ (Famciclovir) ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนยาอะไซโคลเวียร์ แต่มีข้อดีกว่าตรงที่ใช้กินวันละ 3 ครั้งเท่านั้น แต่ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ยังมีราคาค่อนข้างแพง เพราะมีแต่ผู้ผลิตต้นตำรับของแต่ละรายเท่านั้น
  • ถ้าพบเป็นงูสวัดชนิดแพร่กระจาย (ออกนอกแนวเส้นประสาท) ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ สงสัยอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางตา (เช่น เจ็บตา เคืองตา ตาแดง ตามัว) หรือมีอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกร่วมด้วย หรือสงสัยว่าเป็นโรคเอดส์ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
    • ในรายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือเป็นชนิดแพร่กระจาย อาจต้องให้นอนพักในโรงพยาบาล และให้ยาอะไซโคลเวียร์ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดในขนาด 10-12.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทุก ๆ 8 ชั่วโมง นาน 7 วัน
    • ในรายที่งูสวัดขึ้นตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาโดยให้กินยาอะไซโคลเวียร์ ครั้งละ 800 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่ว วันละ 5 ครั้ง นาน 10 วัน และอาจให้ขี้ผึ้งป้ายตาอะไซโคลเวียร์ 3% ป้ายตาวันละ 5 ครั้งร่วมด้วย ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีม่านตาอักเสบ อาจจะต้องให้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ และยาหยอดตาอะโทรปีน 1%
    • ในรายที่เป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก แพทย์จะให้กินยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) วันละ 45-60 มิลลิกรัม จนกว่าผื่นจะหายไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และแพทย์อาจพิจารณาให้อะไซโคลเวียร์ร่วมด้วยในการรักษา
    • ในรายที่เป็นงูสวัดชนิดแพร่กระจายหรือเป็นซ้ำซาก ควรส่งตรวจเลือดดูว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีซ่อนเร้นอยู่หรือไม่
  • ผู้ป่วยงูสวัดที่มีอาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด ในระหว่างที่มีอาการปวดแพทย์จะให้กินยาพาราเซตามอล (Paracetamol), ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) หรือทรามาดอล (Tramadol) ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง หรือให้กินยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) เริ่มต้นด้วยขนาดวันละ 20-25 มิลลิกรัม แล้วค่อย ๆ เพิ่มขนาดขึ้นทุก ๆ สัปดาห์จนได้ผล ถ้าใช้ในขนาดสูงประมาณวันละ 75-150 มิลลิกรัม ควรแบ่งเป็นวันละ 3 ครั้ง (ยานี้อาจทำให้ง่วงนอน ปากคอแห้ง) แต่ในกรณีที่ไม่ได้ผลหรือมีอาการปวดรุนแรง ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์อาจจะต้องให้ยาฉีด ยาทา หรือยาพ่น หรือใช้แคปไซซินทา (Capsicin) ในบางรายแพทย์อาจให้ยา
  • สำหรับสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้ในการรักษาโรคนี้แต่โบราณ คือ ใบเสลดพังพอนตัวเมียหรือพญายอ (Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau) เพราะได้มีการวิจัยพบว่าสมุนไพรชนิดนี้มีสรรพคุณในการรักษาโรคงูสวัดได้ ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมจึงได้ผลิตเป็นครีมสำเร็จรูปที่มีชื่อว่า “ครีมพญายอ” ที่สามารถนำมาใช้ทารักษาโรคได้ หรือจะใช้วิธีเอาใบเสลดพังพอนสด ๆ มาล้างน้ำให้สะอาด บดให้ละเอียด แล้วเอาน้ำที่คั้นได้มาทาบริเวณแผลที่เป็นงูสวัดก็ได้ แต่วิธีนี้ควรใช้รักษาเฉพาะกับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง อายุต่ำกว่า 50 ปี ไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และงูสวัดที่เป็นไม่ได้ขึ้นบริเวณใบหน้า

ชาวบ้านมักมีความเชื่อ “ถ้าเป็นงูสวัดพันรอบเอวเมื่อใด จะทำให้ตายได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงซะทีเดียวนะครับ เพราะในคนธรรมดาที่มีภูมิคุ้มกันปกติ งูสวัดจะไม่สามารถพันรอบตัวเราจนครบรอบเอวได้ เนื่องจากแนวเส้นประสาทของตัวเราจะมาสิ้นสุดที่บริเวณกึ่งกลางของลำตัวเท่านั้น จะไม่ลุกลามเข้ามาแนวกึ่งกลางลำตัวไปอีกซีกหนึ่งของร่างกาย และส่วนมากก็จะขึ้นเพียงข้างเดียวเท่านั้น อีกทั้งโรคนี้ก็มีโอกาสทำให้ตายได้น้อยมาก” คือถ้าจะเป็นอันตรายจริง ๆ ก็คงเกิดจากการอักเสบซ้ำจากเชื้อแบคทีเรียจนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษเสียมากกว่า หากใครเป็นงูสวัดก็ไม่ต้องกลัวหรือตื่นตกใจไปนะครับ เพราะในปัจจุบันนี้เราสามารถรักษาโรคงูสวัดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่อย่างไรก็ตาม งูสวัดที่จะเป็นรุนแรงทั่วร่างกายหรือพันรอบตัวนั้นอาจพบได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว เอดส์ ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ฯลฯ ถ้าเกิดเป็นงูสวัดขึ้นมาก็อาจทำให้ปรากฏขึ้นทั้งสองข้างพร้อมกันจนดูเหมือนงูสวัดพันข้ามแนวกึ่งกลางลำตัวไปยังอีกซีกหนึ่งของร่างกายหรือเป็นงูสวัดทั่วร่างกายได้ ซึ่งแบบนี้อาจทำให้มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ครับ